วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
หน้าแรกPC Guide Hitzone คืออะไร สำคัญต่อการเล่นแค่ไหน?

[Monster Hunter World] Hitzone คืออะไร สำคัญต่อการเล่นแค่ไหน?

ในหลายๆ เกมแล้วนั้น ศัตรูแต่ละตัวก็จะมีจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป ใน Monster Hunter World หรือซีรี่ย์ Monster Hunter เองก็เช่นกันที่มอนสเตอร์แต่ละตัวจะมีจุดอ่อนที่แตกต่างกัน การเรียนรู้ว่าจุดอ่อนของมอนสเตอร์อยู่ตรงไหนจะช่วยทำให้เราล่าได้ง่ายขึ้น ซึ่งจุดอ่อนที่ว่านี้ก็จะเกี่ยวข้องกับ Hitzone หรือตำแหน่งที่ได้รับความเสียหายนั่นเอง ในบทความนี้จะมาอธิบายเกี่ยวกับ Hitzone กันจ้า

Hitzone คืออะไร?

ตามที่ได้กล่าวไว้ ตัว Hitzone นั้นคือตำแหน่งของชิ้นส่วนต่างๆที่มอนสเตอร์ตัวนั้นมี เช่น ขาหน้า ขาหลัง ส่วนหัว ลำตัว หาง ซึ่งมอนสเตอร์แต่ละตัวก็จะมี Hitzone ที่แตกต่างกัน และในแต่ละส่วนก็จะได้รับความเสียหายแตกต่างกันไปอีกด้วย

ในซีรี่ย์ Monster Hunter นั้น เราจะแบ่งความเสียหายหลักๆ ออกเป็น 3+1 แบบนั่นคือแบบกายภาพสามรูปแบบ และธาตุ 1 รูปแบบ

  1. การฟัน (Sever) : มาจากอาวุธชนิดดาบทั้งหลาย มีผลเสริมตรงที่ใช้ตัดหางของมอนสเตอร์ได้หากทำความเสียหายชนิดนี้ถึงจุดที่กำหนด
  2. การทุบ (Blunt) : มาจากอาวุธที่ไม่มีคม เช่นค้อน ขลุ่ย การกระแทกโล่ใส่ มีผลเสริมตรงที่ใช้ทำให้มอนสเตอร์เหนื่อยหรือมึนได้หากทุบถึงจุดที่กำหนด
  3. การยิง (Shot) : มาจากธนูและปืนต่างๆ ไม่มีผลเสริมแต่ก็มักจะเล็งง่ายกว่า และไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องของความคม แต่มีระยะยิงมาเป็นตัวกำหนดแทน
  4. ธาตุ (Element) : อาวุธบางชนิดจะมีผลของธาตุอยู่ ตัวธาตุจะแบ่งทั้งหมด 5 ธาตุด้วยกันประกอบไปด้วย (ไฟ) (น้ำ) (สายฟ้า) (น้ำแข็ง) (มังกร) หากอาวุธไม่มีธาตุติดอยู่ จะทำความเสียหายเป็นกายภาพเท่านั้น ธาตุนั้นจะไม่มีการแยกว่าเป็นการฟัน ทุบ หรือยิง แต่จะคิดร่วมกันหมด

*ในบทความนี้จะขอละส่วนของสถานะผิดปกติ เช่น พิษ ระเบิด หลับ ชา เอาไว้ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานร่วมกันนะจ๊ะ*

ชิ้นส่วนของมอนสเตอร์แต่ละจุด จะมีการรับค่าความเสียหายทั้ง 4 (หรือให้ถูกคือ 8 เพราะแยกธาตุออกมาอีก 5 ธาตุ) แตกต่างกันไป บางจุดเช่นหัว อาจจะรับความเสียหายแบบทุบมากกว่า บางจุดอย่างหางอาจจะรับความเสียหายแบบฟันมากกว่า ทำให้การเข้าใจว่าส่วนไหนรับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน จะช่วยให้เราล่ามอนสเตอร์ได้ง่ายขึ้น

ในภาคก่อนๆ นั้น ผู้เล่นจะไม่สามารถดูออกได้เลยว่าส่วนไหนเป็นจุดอ่อนจุดแข็งเนื่องจากไม่มีเลขความเสียหายบอก (อย่างดีคือมีการเด้งของอาวุธให้ทราบ) แต่ในภาค World นี้ มีตัวเลขบอกทำให้เพื่อนๆ สามารถลองผิดลองถูกได้ว่าตรงไหนจุดอ่อนตีเข้าแรงกว่าจุดอื่นในการใช้ท่าเดียวกันลองดู เพียงแต่ว่าตัวเลขจะไม่มีบอกว่าทำความเสียหายกายภาพเท่าไหร่ ธาตุเท่าไหร่ เพื่อความสะดวกในการเล่นนั่นเอง

นอกจากนี้ตัวเกมก็ยังมีส่วนของ Hunter’s Notes ที่แสดงจุดอ่อนคร่าวๆ ว่าส่วนไหนได้รับความเสียหายประมาณไหนเป็นดาวให้ทราบอีกด้วย โดยยิ่งดาวเยอะก็หมายถึงยิ่งรับความเสียหายเยอะนั่นเอง

ในสกิลอย่าง Weakness Exploit นั้น ก็จะแสดงผลต่อเมื่อเพื่อนๆ ยิงจุดอ่อนของมอนสเตอร์เท่านั้น ทำให้การเล็งจุดอ่อนของมอนสเตอร์ระหว่างต่อสู้ แทนที่จะโจมตีไปเรื่อยขอแค่เข้าเป้าก็พอ จะกลายเป็นจุดที่ช่วยให้การล่านั้นสำเร็จได้ง่ายขึ้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

 

ตีมั่วๆ ไม่สังเกตุจุดอ่อนบางทีก็อาจจะได้ตัวเลขชวนขำแบบนี้

ตัวเลขชัดๆ ของ Hitzone

อย่างไรก็ดีนั้น หากเพื่อนๆ ต้องการทราบว่า Hitzone ส่วนไหนทำความเสียหายได้เท่าไหร่จริงๆ เพื่อศึกษาหาจุดอ่อนในเชิงลึกแล้วนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าข้อมูลที่มีในตัวเกมไม่สามารถตอบโจทย์เพื่อนๆ ในส่วนนี้ได้ แต่ยังมี website ข้อมูลที่มีการแสดงค่าต่างๆ เหล่านี้ออกมาเป็นตารางให้ทราบกัน ซึ่งในตัวอย่างนี้จะขอยก website เจ้าเก่าที่พึ่งพาได้เสมออย่าง [ HoneyHunter ] กันอีกคราวจ้า

ในหน้าการจัดชุดนั้น ให้เพื่อนๆ เลือกตรงไอค่อนรูปดาบใหญ่ทางซ้ายมือ จะปรากฎตารางความเสียหายที่ทำได้ออกมา ให้ดูทางขวาจะมีการแบ่งกลุ่มของมอนเสอตร์ในเกมเอาไว้ เช่น Brute, Elder, Fang ในตัวอย่างนี้จะขอหยิบเจ้า Nergigante กระสอบทรายมอนสุดรักของเพื่อนๆ มาละกัน เราก็จะดูที่ส่วนของ Elder และเลือกที่เจ้า Nergigante นั่นเอง เมื่อกดแล้วก็จะมีตารางตัวเลขยุ่บยั่บออกมาเต็มไปหมด นี่แหละจ้า คือ Hitzone ที่เราพูดถึงกันมาตั้งแต่แรก

ในส่วนของ Part จะหมายถึงชิ้นส่วนของมอนสเตอร์ เช่น Head = หัว จากนั้นทางขวามือจะไล่ลำดับจาก การฟัน, การทุบ, การยิง (ทั้งสามอย่างนี้จะคำนวนแค่ส่วนของกายภาพหรือ Raw เท่านั้น) จากนั้นจึงตามด้วยส่วนของธาตุ ไฟ, น้ำ, สายฟ้า, น้ำแข็ง, มังกร ที่ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นการทุบฟันหรือยิงเพราะคิดแยกกัน)

ตัวเลขยิ่งสูงหมายถึงยิ่งทำความเสียหายได้มาก โดยสามารถตีความให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าเป็นอัตราส่วนพลังโจมตีที่จะทำความเสียหายกับชิ้นส่วนนั้นก็ได้ (สูตรคำนวนจริงๆ จะค่อนข้างยุ่งยากมาก จะมีเรื่องของแต่ละท่า ว่าท่านั้นทำความเสียหายได้กี่เปอร์เซ็นมาคูณเพิ่มเติม เพิ่มด้วยความคมอะไรอีกเอิ้ว) ในขณะเดียวกันถ้ายิ่งต่ำหรือ 0 เลย (เช่นในกรณีของธาตุ) จะทำความเสียหายได้น้อยลงจนถึงขั้นไม่มีความเสียหายเลย โดยสังเกตุได้จากการโจมตีที่เน้นธาตุหรือเป็นธาตุล้วน หากโจมตีใส่จุดที่เป็นศูนย์สนิทจะเห็นเลข 0 สวยงามเลยทีเดียว (หรืออาจจะย่ำแย่แบบ 1-2 หน่วยได้)

ในขณะที่เพื่อนๆ จะได้เห็นค่า hitzone ของกายภาพค่อนข้างสูงกว่าธาตุอย่างชัดเจน นั่นก็เพราะสูตรคำนวนในการเรียกค่ากายภาพกับธาตุมาใช้งานนั้นจะต่างกันพอประมาณ แต่ปกติแล้วนั้น hitzone ที่เพื่อนๆ ต้องการในสายกายภาพจะอยู่ที่ 45 หน่วยขึ้นไป และสำหรับธาตุจะอยู่ที่ 20 หน่วยขึ้นไป ที่จะทำความเสียหายได้ดีมาก (ส่วนพวกที่ 60/30 ขึ้นนี่ต้องบอกนุ่มเป็นเต้าหู้เลยล่ะ) ซึ่งในค่า hitzone ของกายภาพที่มี 45 หน่วยหรือมากกว่านั้น จะส่งผลให้สกิล Weakness Exploit นับว่าจุดนั้นเป็นจุดอ่อน และทำงานให้เรามีโอกาสโจมตีติดคริติคอลมากขึ้นด้วยนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีกรณีของชิ้นส่วนที่มีเงื่อนไขอีกด้วย เช่น Wound หมายถึงเกิดบาดแผลหลังจากถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งตรงนี้จะขึ้นกับมอนสเตอร์แต่ละตัวว่าตัวนั้นมีอะไรพิเศษบ้าง อย่างในตัวอย่างนี้ ของ Nergigante จะมีค่าที่น่าสนใจคือ Wound (เขาหัก) White (หนามเป็นสีขาว) และ Black (หนามเป็นสีดำ) ซึ่งนอกจากนี้จะเป็นสภาพปกติ ไม่มีหนาม ไม่มีบาดแผลอะไรพิเศษ ทำให้ hitzone มีการเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลาและการต่อสู้ และส่งผลกับการเล่นจริงของเราที่จะรู้สึกได้ว่าเจ้าเม่นตัวนี้โดนตีแรงขึ้นมหาศาลเวลาที่เป็นหนามสีขาว แต่พอหนามกลายเป็นสีดำนี่ล่อซะตีไม่เข้า เด้งเอาๆ

ในตัวสมุด Hunter’s Notes ของเพื่อนๆ ที่ดูได้ในเกมนั้น จะไม่มีการบอกตัวเลขที่ชัดเจนเอาไว้ บอกเพียงคร่าวๆ เท่านั้น โดยเฉพาะในแง่ของธาตุที่เป็นการนำค่าเฉลี่ยของทุกส่วนมารวมกันแล้วค่อยบอกเป็นดาว ทำให้ข้อมูลใช้งานจริงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ด้วย (เช่นกรณีของ Behemoth ที่เขียนว่าแพ้มังกร แต่จริงๆ มันแพ้แบบแรงมหาศาลแค่ตรงเขา ที่เหลือเบาหวิว พอเฉลี่ยกันเลยชวนให้เขวได้ซะขนาดนี้)

แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของมือใหม่ก็พอจะใช้เป็นแนวทางได้อยู่บ้าง แต่ถ้าต้องการล่าแบบจริงจัง ทำเวลาดีๆ อย่าง Speed Runner (การเล่นแบบเน้นความเร็วในการล่าให้ได้ไวที่สุดเท่าที่ทำได้) การเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ hitzone นั้นเรียกได้ว่าสำคัญมากเลยทีเดียว

ศึกษาจุดอ่อน สังเกตุความเสียหายที่ทำได้เพื่อการล่าที่สมบูรณ์แบบ

 

Iceborne : การใช้ Clutch Claw สร้างบาดแผล (Tenderizer)

หากเพื่อนๆ ซื้อภาคเสริม Iceborne มาแล้ว จะสามารถใช้ [ Clutch Claw ] ในการสร้างบาดแผลให้กับชิ้นส่วนต่างๆ ของมอนสเตอร์ได้ (แต่จะมีบางจุดที่ไม่สามารถทำบาดแผลได้เช่นกัน) ซึ่งการทำบาดแผลนี้ จะส่งผลให้จุดนั้นมีค่า hitzone กายภาพ (ตัวเลขสามตัวแรก) มากขึ้น จากจุดที่อาจจะเป็นจุดแข็งมาก่อน (44 หรือน้อยกว่า) อาจจะกลายเป็นจุดอ่อน (45 หรือมากกว่า) ขึ้นมาก็ได้ ทำให้เพื่อนๆ สามารถโจมตีเข้าได้รุนแรงหรือ หรือสร้างจุดอ่อนในบริเวณที่ต้องการขึ้นมาแทนได้

เช่นเดียวกัน ใน Website อย่าง HoneyHunter เพื่อนๆ สามารถเช็คได้ว่า hitzone จุดไหนเมื่อสร้างบาดแผลแล้วจะกลายเป็นเท่าไหร่ ถึง 45 ไหมได้เช่นกันด้วยการติ๊กที่ช่อง Monster is Tenderized (โดนสร้างบาดแผลแล้ว) ตัวเลขในตารางก็จะเปลี่ยนส่วนของกายภาพให้ทราบว่า ค่า Hitzone หลังได้แผลจะกลายเป็นเท่าไหร่ให้เพื่อนๆ ตัดสินใจการทำแผลได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่นในรูป จะเห็นว่าส่วนหางที่ยังไม่แตก ถ้ายังไม่ได้ทำบาดแผล จะต่ำกว่า 45 ไม่เป็นจุดอ่อน แต่เมื่อสร้างแผลแล้วจะกลายเป็น 51~55 สกิล Weakness Exploit ทำงานตามปกติทันที ช่วยให้เพื่อนๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเล่นนั่นเอง

ทางซ้ายตัวเลขเมื่อโจมตีส่วนที่ไม่มีบาดแผล ทางขวาเมื่อโจมตีโดนบาดแผล

 

สุดท้ายนี้นั้น ก็ต้องขออภัยเพื่อนๆ ด้วยที่ตัวบทความนี้อาจจะไม่ได้เจาะลึกถึงขนาดสูตรคำนวนว่า เราต้องคำนวนอะไรยังไงทำให้ได้ความเสียหายเท่าไหร่ในเกม แต่ก็แนะนำวิธีการหาค่า hitzone และดูว่าจริงๆ แล้วเราควรจะต้องเล็งจุดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะบางครั้งการโจมตีแต่ส่วนหัวของมอนสเตอร์ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ที่สุด นอกจากนี้แล้ว ในหลายๆ ครั้ง การยอมตีจุดที่แข็งกว่า แต่ทำให้มอนสเตอร์ล้มหรือเสียหลัก เปิดโอกาสให้เราโจมตีจุดอ่อนได้คุ้มค่ากว่าการพยายามเล็งแต่จุดอ่อนอีกด้วย hitzone จึงไม่ใช่ข้อมูลทั้งหมดที่ต้องใช้ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สะสมเข้ากับประสบการณ์การล่าของเพื่อนๆ เพื่อให้เป็นนักล่าชั้นอ๋องนั่นเองจ้า


RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments