เชื่อได้ว่าเวลาพูดถึงเกมแล้วนั้น แต่ละคนมักจะนึกถึงประสบการณ์ดีๆ ความสนุกที่ได้จากเกม และมีเกมมากมายที่เล่าเรื่องราวเศร้าๆ ความขมขื่น ความสูญเสียได้อย่างตราตึง แต่ในคำถามที่ว่า “รู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ขึ้นมาหรือยัง?” (Do you feel like a hero yet?) นั้น ถ้าเป็นเกมอื่นอาจจะไม่ทำให้เพื่อนๆ ได้คิดจนหัวหมุนนัก แต่สำหรับในเกมๆ หนึ่ง Spec Ops: The Line มันเป็นคำถามสั้นๆ ที่แอบถามขึ้นมาระหว่างเล่นเกมที่จะตอกย้ำความรู้สึกของผู้เล่นอยู่ตลอดเวลาถึงสิ่งที่กำลังทำลงไป
Spec Ops: The Line
ตัวเกม Spec Ops กล่าวถึงเรื่องราวของ Martin Walker แห่งหน่วย Delta Force ที่ถูกส่งเข้าไปช่วยเหลือทหารหน่วย 33rd ใน Dubai ซึ่งถ้าเป็นเกมอื่นๆ มันก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่สำหรับ Spec Ops นั้นไม่ใช่ ในเรื่องราวของเกม มีเรื่องที่เล่นกับความรู้สึกเชื่อมั่นว่าทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ อะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ อะไรคือความจริงกันแน่ มีการหลอกล่อและหลอกถามผู้เล่นเป็นระยะๆ ตลอดเวลา แผนการที่ฟังดูน่าเชื่อถือ กลายเป็นแผนการที่น่าอดสู ความช่วยเหลือที่กลายเป็นการทำลายล้าง สิ่งเหล่านี้จะวนเวียนไปมาตลอดการเล่นของเพื่อนๆ
Walker ก้าวเข้ามาสู่เมือง Dubai ที่เละจากสงครามเพื่อตามหาทหารหน่วยเป้าหมาย การได้ถูกยั่วยุจากเสียงลึกลับที่ผิดวิสัย การได้เจอกับทหารของชาติตัวเองที่กลับกำลังข่มขู่ประชาชนในเมือง การแตกคอกันเองของเหล่าทหาร ภารกิจของหน่วย CIA ที่ทำเพื่อชาติ ตัวเลือกที่เกมที่ไม่ได้แสดงเป็นตัวเลือกให้กระทำหรือมีการระบุว่ามีอะไรให้เลือกบ้าง รวมไปถึงการบีบบังคับให้ต้องทำอะไรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งหมดล้วนนำไปสู่จุดสุดท้ายของเกมที่มีฉากจบให้ตัดสินใจเพิ่มเติมถึง 4 แบบ
อันที่จริงประโยค Do you feel like a hero yet? นี้ไม่ได้ทรงพลังอะไรมากนักเมื่อเทียบกับเนื้อหาทั้งหมดของตัวเกม (รวมถึงการตลบหลังผู้เล่นอย่างเจ็บแสบเมื่อเพื่อนๆ สามารถสังเกตุและไขปริศนาคำใบ้ที่ซ่อนอยู่ตั้งแต่หน้าจอเมนูไปจนถึงตลอดระยะเวลาที่เล่นอยู่ได้) แต่มันได้สร้างคำถามกับตัวผู้เล่นเองที่ส่วนมาก มักจะได้ผ่านเกมมามากมาย โดยเฉพาะเกมแนว Shooter ต่างๆ หรือเกมวางแผนการรบที่ต้องมีการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง
“คุณเคยรู้สึกไหมว่าสิ่งที่คุณตัดสินใจทำลงไปง่ายๆ โดยไม่เห็นผลเสียที่มันอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้ มันดูสุดยอด มันรู้สึกเหมือนฮีโร่ที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ได้สำเร็จเลยหรือเปล่า?”
Do you feel like a hero yet?
ในฉากที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดของเกมนี้ การจำใจต้องใช้ระเบิดฟอสพอรัสขาวยิงใส่กองทหารฝั่งตรงข้าม ซึ่งฟอสพอรัสขาวนั้นเป็นอาวุธเคมีที่ร้ายแรงและโหดร้ายอย่างยิ่งเป็นที่สุด มันคือเชื้อไฟที่จะลุกไหม้จนกว่าตัวมันจะเผาไหม้หมดไปหรือไม่มีออกซิเจนให้มันเผาผลาญต่อได้เท่านั้น มันโหดร้ายยิ่งกว่าการเจอระเบิดนาปลาม์เผาผลาญหรือเปลวไฟชนิดไหนๆ
แน่นอนว่าเพื่อนๆ หลายคนอาจจะสังเกตุได้ตั้งแต่ในฉากการยิงระเบิดฟอสฟอรัสขาวแล้วว่ามันมีอะไรแปลกๆ อยู่ในกลุ่มทหารเป้าหมาย แต่ในเมื่อไม่มีตัวเลือกอื่นใดอีกเพื่อให้สามารถดำเนินเรื่องราวขณะนั้นต่อไปได้ มันก็ต้องทำและยอมรับกับสิ่งที่ตามมา พร้อมกับการบังคับให้ผู้เล่นต้องเดินผ่านผลงานของตัวเองที่ได้กระทำไปต่อหน้าต่อตา และได้เจอกับสิ่งที่ไม่อยากจะเห็นมากที่สุดอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความสูญเสียของประชาชนที่โดนลูกหลงจากอาวุธเคมีที่ร้ายแรง (ถึงจะดูเป็นการบังคับจนเข้าขั้นยัดเยียดก็ตามที)
หรืออีกครั้งที่เพื่อนๆ ตัดสินใจทำตามแผนที่น่าจะฟังดูดีของ CIA ที่ให้ยึดน้ำทั้งหมดที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตอันแสนสำคัญในทะเลทราย เพื่อที่จะได้ตัดกำลังของทหารฝั่งตรงข้ามได้อย่างเด็ดขาดและแน่นอนที่สุด แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นการทำลายน้ำทั้งหมดที่ทุกคนในเมืองจะต้องใช้ไปด้วย จากที่อาจจะมีคนรอดชีวิตหลายพัน ตอนนี้ทุกคนกำลังจะขาดน้ำดื่มตายในไม่กี่วัน
เป้าหมายหลักของเกมที่กล่าวว่าเขาพยายามปกป้องเมืองนี้จากพายุทราย แต่กลายเป็นต้องมาปกป้องเมืองนี้จากผู้เล่น
ทั้งหมดนี้ทำให้ประโยคที่ว่า “รู้สึกว่าตัวเองเป็นฮีโร่ขึ้นมาหรือยัง?” กลายเป็นสิ่งที่หลอกหลอนคนเล่น ความคิดที่ว่าตัวเองทำถูกต้อง แก้สถานการณ์ที่อยู่ข้างหน้าได้ ทำตามเป้าหมายสำเร็จ แต่ผลตอบแทนที่ตามมานั้นเล่า?
ตัวเกม Spec Ops: The Line อาจจะไม่ใช่เกมที่ดีเลิศหรู หรือเป็นเกมที่เล่นเพื่อความบรรเทิงเพียงอย่างเดียว แต่หลายคนก็เชื่อว่ามันเป็นเหมือนกับเกมที่ตั้งคำถามกับผู้เล่น เป็นเหมือนการฟังเรื่องราวที่เราสามารถมีส่วนร่วมกับมันได้ เป็นเกมที่เปลี่ยนตัวเลือกจากสีขาวและสีดำ ให้กลายเป็นสีเทา สร้างเหตุการณ์บีบบังคับที่จำใจต้องเลือก หลอกล่อคนเล่นให้สงสัยตลอดเวลา จนบางทีก็สงสัยว่านี่ตกลงเล่นเกมหรือมาโดนปั่นหัวกันแน่
ที่น่าชื่นชมจากเนื้อเรื่องที่วางมาได้ให้ชวนต้องคิดตามตลอดเวลา ก็เป็นทีมงานนักพากย์ที่ได้บรรจงมอบความมีชีวิตของเหล่าตัวละครในเกม ให้เราได้สัมผัสเหมือนกับพวกเขากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ความมั่นใจที่มีในตอนแรก ความสับสนที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ความเหนื่อยล้าจากการที่ต้องผ่านอะไรต่ออะไร ความผิดหวัง เพื่อนๆ สามารถสัมผัสมันได้จากน้ำเสียงและท่าทางของเหล่าตัวละครในเกมนี้ทั้งหมด
หนำซ้ำยังรวมไปถึงจุดสังเกตุเล็กๆ น้อยๆ ตลอดการเล่นที่ทิ้งปมให้คนที่เอะใจ ตามว่าเรื่องราวทั้งหมดที่จริงมันคืออะไรกันแน่ ก็ทำให้ตัวเกมเป็นที่น่าจดจำมากขึ้นไปอีก
หลายคนที่ได้สัมผัสกับเกมนี้นั้น บางคนก็ไม่อาจจะทนเล่นต่อไหว บางคนก็เล่นสบายๆ บางคนก็จิตตก บางคนก็เฉยๆ บางคนก็ว่ามันเป็นการจำลองความเลวร้ายของสงคราม บางคนก็บอกว่าเป็นแค่การยัดเยียดเรื่องราว แล้วเพื่อนๆ ล่ะคิดว่าอย่างไร?
บางครั้งการกดโจมตีประเทศที่กดขี่ประชาชนอย่างหนักซักแห่งในเกมวางแผนการรบ คำนวน Turn เสร็จ เราสามารถยึดประเทศมาดูแลต่อได้ อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นฮีโร่มากกว่าก็เป็นได้ เพราะมันไม่ใช่ Spec Ops: The Line เกมที่นำเสนอเรื่องราวผ่านด้านมืดของมนุษย์เป็นหลักล่ะนะ