วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
หน้าแรกUncategorized @th Love Letter : ใครว่ามันเป็นจดหมายรัก? คิดผิดแล้ว!

[Review] Love Letter : ใครว่ามันเป็นจดหมายรัก? คิดผิดแล้ว!

หนึ่งในความสนุกของการเล่นเกมแนว Tabletop ที่หลายคนชอบและสร้างสีสรรในกลุ่มเพื่อนได้ดีก็ไม่พ้นการปั่นนั่นเอง วันนี้ก็ยังคงมาแนะนำเกมเบาๆ จบไว เล่นในกลุ่มเพื่อน 3-5 คน แถมใช้ของประกอบน้อยมากอย่าง Love Letter จดหมายรักปั่นหัวอุตลุตกันจ้า

ใครว่าจดหมายรัก นี่มันใบสั่งตายชัดๆ

Love Letter จดหมายรัก เป็นการ์ดเกมที่สร้างสรรโดยคุณ Seiji Kanai ซึ่งเป็นเกมที่อาศัยดวงพอประมาณ จัดการความเสี่ยงและตัดคู่แข่งออกจนกว่าจะเหลือคนเพียงคนเดียวที่จะชนะในเกมนี้

ใน Love Letter ผู้เล่นจะพยายามเอาชนะใจเจ้าหญิงที่กำลังโศกเศร้าด้วยการเขียนจดหมายหา และฝากให้ใครคนใดคนหนึ่งเพื่อเอาไปให้กับเจ้าหญิง แน่นอนว่าใครก็อยากจะชนะใจดังนั้นจึงมีการขัดแข้งขัดขากัน ใครที่ถูกพบเจอว่าฝากจดหมายให้กับใครก่อน ก็ย่อมถูกตัดออกไปอย่างง่ายดาย การพยายามรักษาความลับและตัดขาคู่แข่งออกจึงเป็นชัยชนะแห่งศึกการมัดใจเจ้าหญิงนี้

ด้วยความที่ตัวเกมเล่นไวจบไว แต่ละตามักไม่เกิน 5 นาที (ถ้าไม่คิดเดามากนัก) ทำให้การคัดผู้เล่นออกแทบไม่ส่งผลอะไรกับตัวเกม หรือต้องรอกันมากนัก การเล่นของแต่ละคนจะส่งผลให้คนที่กำลังรอมีตัวเลือกลำดับที่อยากทำได้ตลอดเวลา เรียกว่า down time หรือเวลาที่ต้องรอก่อนเล่นจึงแทบไม่มีเลยจนกว่าจะถูกคัดออกนั่นเอง

ประเภท : ตัดตัวเลือก, แข่งขันระหว่างผู้เล่น, ผู้ชนะเดียวคนเดียว
จำนวนผู้เล่น : 2-4 คน
ระยะเวลาเตรียมการ : 20 วินาที
ระยะเวลาเล่น : 3-5 นาทีต่อรอบ, 20 นาทีต่อเกมเต็ม

▲ จุดเด่น

  • เสอนเข้าใจง่ายและจบไวปานสายฟ้าแลป
  • แม้จะอยู่ในระหว่างรอเทิร์น แต่การกระทำของคนอื่นจะช่วยตัดตัวเลือกที่ต้องคิดลงไป ทำให้มีส่วนร่วมคิดตลอดเวลา
  • จำนวนอุปกรณ์น้อยมาก ทำให้สอนได้ง่ายมาก
  • เหมาะแก่การนำเสนอการเล่นการ์ดเกม หรือสอนผู้เล่นใหม่ รวมถึงคั่นเวลา เปลี่ยนบรรยากาศได้ดี

▼ จุดด้อย

  • เป็นเกมตัดตัวเลือก ทำให้การเล่นแบบจริงจังนั้นก็จะใช้เวลามากขึ้นและส่งผลการแพ้ชนะมากกว่าเล่นขำๆ เพลินๆ
  • เกมไม่มีกฎห้ามรุม ทำให้สามารถรุมได้และเสียอรรถรสได้ง่ายมากถ้าโดนรุม
  • เช่นหลายๆ เกมที่ต้องเล่นด้วยความซื่อสัตย์ ทำให้หากโดนทายชื่อแล้วแกล้งตอบผิด เกมจะกร่อยทันที

อุปกรณ์ในกล่อ…ห่อ

สำหรับตัวเกม Love Letter นั้น เพื่อนๆ จะมีการ์ดเพียงแค่ 16 ใบเท่านั้นในการเล่น โดยมีของแถมเป็นการ์ดคู่มือ 4 ใบและ Token แสดงความรัก(คะแนน) 13 ชิ้น การ์ดหลักๆ จะประกอบไปด้วยการ์ดทั้งสิ้น 8 ชนิด นั่นแหละจ้า ของในการเล่นมีแค่นี้จริงๆ นะ แต่ปั่นหูตูบอ่ะขอบอก

*ในเวอร์ชั่นหลังของทาง Asmodee จะเพิ่มจำนวนการ์ดเป็น 21 ใบ*

 


วิธีการเล่น จดหมายรักหักธงเสียบคาที่

ในการเตรียมตัวเล่น Love Letter นั้น เพื่อนๆ จะทำการสับการ์ดทั้งหมด 16 ใบให้เรียบร้อย ก่อนจะแยกออกมา 1 ใบคว่ำหน้าไว้ เป็นใบที่จะไม่ถูกใช้ในรอบนั้น และแจกจ่ายให้ผู้เล่นทุกคน คนละ 1 ใบ เรียบร้อย… ผู้เล่นจะไม่สามารถดูการ์ดในมือคู่ต่อสู้หรือในกอง และใบที่ถูกแยกออกไปได้นะจ๊ะ

การ์ดจะมีทั้งสิ้น 8 ชนิด ไล่จากหมายเลข 1-8 ตามลำดับ

หมายเลข จำนวน ชื่อการ์ด ความสามารถเมื่อเล่น
1 5 Guard ‘Odette’ ทายชื่อ(หรือหมายเลข)ของการ์ดเป้าหมายที่ไม่ใช่ Guard (1) เป้าหมายจะตอบว่า ถูกหรือผิด หากทายถูก เป้าหมายจะแพ้ทันที
2 2 Priest ‘Tomas’ ดูการ์ดในมือของเป้าหมาย
3 2 Baron ‘Talus’ เทียบการ์ดในมือของเป้าหมายกับตัวเองอีกใบหนึ่ง ผู้ที่มีหมายเลขต่ำกว่าจะแพ้ทันที
4 2 Handmaid ‘Susannah’ เมื่อใช้การ์ดใบนี้ จะไม่ถูกคนอื่นใช้การ์ดใส่ได้จนกว่าจะเข้าตาต่อไป
5 2 Prince ‘Arnaud’ สั่งเป้าหมายทิ้งการ์ดในมือและจั่วใบใหม่
6 1 King ‘Arnaud IV’ แลกการ์ดอีกใบในมือตัวเองกับเป้าหมาย
7 1 Countess ‘Wilhelmina’ ทำอะไรไม่ได้ บังคับต้องทิ้งการ์ดใบนี้หากมี Prince(5), King(6)
8 1 Princess ‘Annette’ หากทิ้งการ์ดใบนี้จะแพ้ทันที

 

เวอร์ชั่นของทาง Asmodee จะมีการ์ดเพิ่มมาอีก 2 ชนิดและรองรับผู้เล่นได้เป็น 2-6 คนแทน ซึ่งหลังจากนี้จะขออณุญาติใช้ตัวอักษรสีเขียวแทนกฎของทาง Asmodee จ้า โดยการ์ดจะมีดังนี้

หมายเลข จำนวน ชื่อการ์ด ความสามารถเมื่อเล่น
0 +2 Spy เมื่อใช้ไม่มีผลอะไร เมื่อการเล่นรอบนั้นจบ หากมีผู้เล่นคนเดียวที่ทำการใช้ Spy ในเกมนั้น (1 หรือ 2 ใบก็ได้ แต่ต้องเป็นคนเดียวกัน) จะได้ Token ฟรี 1 แต้ม ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม และผู้ชนะก็จะได้ Token จากการชนะตามปกติ
1 5+1 Guard
ทายชื่อ(หรือหมายเลข)ของการ์ดเป้าหมายที่ไม่ใช่ Guard (1) เป้าหมายจะตอบว่า ถูกหรือผิด หากทายถูก เป้าหมายจะแพ้ทันที
2 2 Priest
ดูการ์ดในมือของเป้าหมาย
3 2 Baron เทียบการ์ดในมือของเป้าหมายกับตัวเองอีกใบหนึ่ง ผู้ที่มีหมายเลขต่ำกว่าจะแพ้ทันที
4 2 Handmaid เมื่อใช้การ์ดใบนี้ จะไม่ถูกคนอื่นใช้การ์ดใส่ได้จนกว่าจะเข้าตาต่อไป
5 2 Prince สั่งเป้าหมายทิ้งการ์ดในมือและจั่วใบใหม่
6 +2 Chancellor จั่วการ์ดสองใบจากกอง เลือกเก็บใบหนึ่งจากนั้นเอาสองใบนั้นคว่ำไว้ใต้กองโดยเรียงลำดับอย่างไรก็ได้ ถ้าในกองเหลือใบเดียว จั่วและวางกลับ 1 ใบ ถ้าไม่มีเหลือก็จะไม่เกิดผลอะไร
7 1 King แลกการ์ดอีกใบในมือตัวเองกับเป้าหมาย
8 1 Countess ทำอะไรไม่ได้ บังคับต้องทิ้งการ์ดใบนี้หากมี Prince(5), King(6)
9 1 Princess
หากทิ้งการ์ดใบนี้จะแพ้ทันที

*หากต้องการเล่นเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่รองรับ 2-4 คน ให้นำการ์ดจำนวนเขียวออก*

หมายเหตุเกี่ยวกับการเล่นการ์ด

  • เป็นการ์ดเกมที่ต้องเล่นด้วยความซื่อสัตย์แม้จะปั่นกันก็ตาม การถูกทายด้วย Guard ต้องตอบว่าถูกหรือไม่ถูกตามจริง รวมถึงถ้ามี Countess จะต้องถูกบังคับทิ้งหากมี Prince, King โดยห้ามใช้สองใบนี้ก่อน
  • ผู้เล่นจะมีการ์ดติดตัวเสมอ 1 ใบ เมื่อจั่วและใช้ การ์ดที่ใช้เพื่อแสดงผลนั้นๆ จะถูกวางไว้ด้านหน้า ทำให้การ์ดอีกใบในมือจะเป็นการ์ดที่ใช้ต่อจากผลนั้นๆ ในกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น Baron (เทียบเลข) หรือ King (แลกเปลี่ยน)
  • การใช้ Handmaid จะไม่ตกเป็นเป้าหมายในการเล็งเป้าใดๆ หากเหลือกันแค่คนที่มี Handmaid ปกป้องอยู่ คนที่เล่นการ์ดจะทำได้แค่ทิ้งการ์ดในมือไปเปล่าๆ เท่านั้น เพราะไม่มีเป้าหมายให้ใช้
  • Countess สามารถทิ้งเล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องมี Prince, King, Princess ก็ได้เพราะไม่มีการห้ามไว้ (ปั่นกันจังฮู้) แต่ถ้ามี Prince, King จำเป็นจะต้องทิ้ง Countess ทันที ห้ามลักไก่ใช้ Prince, King แทน

 

► การเล่น

การเล่นจะเริ่มจากใครก่อนก็ได้ และวนตามเข็มนาฬิกา(ซ้ายมือจากคนแรก) โดยผู้ชนะจะได้เริ่มเล่นก่อนในตาถัดๆ ไป

เมื่อทำการเริ่มเล่น ผู้เล่นจะทำการจั่วการ์ดเพิ่ม 1 ใบจากในกอง จากนั้นเลือกว่าจะใช้การ์ดใบไหนก็ได้ในมือตัวเอง หนึ่งในสองใบ และเกิดผลตามการ์ดที่ใช้ไป โดยเลือกเป้าหมายเป็นผู้เล่นคนไหนก็ได้ที่ยังเหลืออยู่ในเกมตอนนั้น

เช่น  A ใช้ Baron (3) ซึ่งมีผู้เล่นอีก 3 คือ B C D ซึ่งได้ทำการเลือก C และนำการ์ดของ C มาวัดกับอีกใบที่เหลือในมือของ A ว่าใครมีแต้มมากกว่า ปรากฎว่า A มี King (6) ในมืออีกใบมั่นใจมาก แต่ C ดันมี Countess (7) ที่มีแต้มสูงกว่า ทำให้ A พ่ายภัยตัวเองแพ้ไป ต้องทิ้งการ์ดในมือลงอย่างราบคาบออกมาเป็น King (6) ส่งผลให้ B และ D สามารถเดาการ์ดในมือได้ว่า C ต้องมีการ์ดที่มีแต้มมากกว่า นั่นคือ Countess (7) หรือ Princess (8) อย่างแน่นอน การเล่นของ B ที่เป็นคนต่อไปจึงมีโอกาสสูงมากที่จะจัดการ C ต่อ หรืออาจจะไม่มีการ์ดที่จัดการได้และเสียโอกาสไปเพราะ C จะต้องรีบหาทางกำจัด Countess (7) ในมือก่อนจะโดน Guard (1) สังหารโหดนั่นเอง

การ์ดที่ใช้แล้วให้วางไว้ด้านหน้าของตัวเองหงายไว้ เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ว่า การ์ดใบไหนถูกใช้ไปแล้ว และก็จะวนไปยังผู้เล่นคนต่อไป การเล่นจะวนไปเรื่อยๆ เช่นนี้จนกว่าการ์ดในกองจั่วจะหมดลง หรือเหลือผู้เล่นเพียงคนเดียวในเกม การเล่นรอบนั้นจะจบลง

 

การหาผู้ชนะ

เมื่อเข้าเงื่อนไขแพ้ชนะในแต่ละรอบ (การ์ดหมด / เหลือคนเดียว) ผู้ชนะจะได้รับ Token เป็นแต้มสะสมไป และเริ่มการเล่นรอบใหม่

  • การ์ดในกองจั่วหมดลงนั้น ผู้เล่นคนสุดท้ายที่จั่วการ์ดจะต้องเลือกใช้การ์ดให้เหลือใบเดียวก่อน จากนั้นจึงจะเปิดการ์ดในมือของทุกคนที่ยังเหลือในเกมนั้นว่า ใครมีแต้มสูงสุด จะนับว่าคนนั้นชนะในเกมรอบนั้นไป
  • ในกรณีที่เหลือคนเพียงคนเดียวไม่ว่าจะมีการ์ดในกองเหลือหรือไม่ คนนั้นจะชนะในรอบนั้น

ซึ่งตามกฎพื้นฐานจะนับผู้ชนะในเกมนั้นจริงๆ จากจำนวนแต้ม Token ว่าใครสะสมได้ครบก่อนดังนี้

ผู้เล่น แต้มที่ต้องใช้
2 7 / 6
3 5
4 4
5 3
6 3

ผู้ที่สะสม Token ได้ครบก่อน ก็จะเป็นผู้ชนะใจของเจ้าหญิงและชนะในเกมนี้ไปอย่างไร้ข้อกังขา ….. มั้ง ปั่นกันขนาดนี้เนี่ย!!!


ตัวเกม Love Letter นั้นสามารถเล่นได้ง่าย จบไว เหมาะแก่การฆ่าเวลาหรือคั่นจังหวะหลังเล่นเกมเครียดๆ ตัดสินอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเล่นแบบ full game ตามกฎการนับแต้มเป๊ะๆ จะเล่นแค่เอามันส์ไม่สนการนับแต้มสะสมก็ยังได้

เสน่ห์ที่แท้จริงของตัวเกมนั้นคงไม่พ้นการ์ดที่เป็นเกมที่ง่าย สนุก รวดเร็ว โดยใช้การ์ดเพียงแค่ไม่กี่ใบเท่านั้น และด้วยการที่แพ้ได้ทุกเทิร์นทำให้เวลาเล่นแล้วมักจะต่อกันยาวๆ ด้วยความติดลม (โดยเฉพาะถ้าไม่คิดแพ้ชนะตามกฎสะสมคะแนน) เรียกว่าเป็นปาร์ตี้เกมอย่างแท้จริงเลยทีเดียว

แต่ข้อเสียของเกมก็จะอยู่ที่การที่ผู้เล่นจะต้องซื่อสัตย์กับการเล่น โดยเฉพาะการเล่น Guard, Baron และ Countess นั้นจะต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ตัวเกมจึงจะเล่นได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้หากมีการโกงแอบเนียนขึ้นมา ตัวเกมจะพังทันที ทำให้หากมีคนแอบโกงแทบจะต้องเปลี่ยนเกมเล่นในทันทีเพราะฝืนไม่ได้เลย ซึ่งก็นั่นแหละจ้า การโกงก็ไม่ใช่อะไรที่ดีนัก การเล่นเกมจึงควรรักษาซึ่งกติกาและน้ำใจที่จะรู้แพ้รู้ชนะกันอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ตัวเกมยังเปิดโอกาสให้รุมแกล้งกันได้เต็มที่ ทำให้หากโดนรุมบ่อยๆ อาจจะหมดสนุกได้ พยายามเผื่อแผ่การตีกันไปให้คนอื่นบ้าง (ฮา)

ถ้าใครที่ชอบเกมแนวเฮฮาปั่นกันขำๆ แล้ว ก็ขอแนะนำ Love Letter ไว้ในใจซักเกมหนึ่ง รับประกันว่าไวและสนุกไม่แพ้เกมแนว Bluff อย่างแน่นอน ซึ่งในทางเดียวกัน หากเป็นผู้เล่นที่ชอบเกมแนวตัดตัวเลือก ไม่ชอบ Bluff ปั่นกันเละ ตัวเกม Love Letter ก็ยังเล่นในแบบซีเรียสจริงจังได้อยู่ เพราะการเล่นจริงๆ นั้นจะเป็นแนวตัดความน่าจะเป็นไปเรื่อยๆ อยู่ได้ แต่อาจจะไม่ถึงกับ 100% เพราะมีเรื่องของดวงอะไรพอสมควรจ้า


RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Most Popular

Recent Comments